A-C-01<br>Expired::
A-C-02<br>Expired::
A-C-03<br>Expired::
 
[Interview & Review]
 
Mr. Ruby นายช่างใหญ่ประจำ PHD@RCA
By HDP PR
DATE: 2011.07.22
VIEW: 108567
POST: 12

 

 

ผมได้ยินข่าวเกี่ยวกับช่างซ่อมรถชาวอเมริกันที่มาประจำอยู่กับ PHD@RCA มาได้ซักพักแล้วครับ เกิดความสงสัยอยากรู้จักจริงๆ ว่าเขาคือใคร มาจากไหน ฝีมือเป็นยังไง และจะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับเจ้า Black Springer ที่กำลังใกล้จะได้เวลาซ่อมบำรุงหรือเปล่า รวมถึงรถปีใหม่ๆ ที่หลายๆ คนบอกว่า ซ่อมยากเหลือเกินกับระบบไฟฟ้าแสนวุ่นวายที่ Harley กำลังจะพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของตัวเองให้กลายมาเป็นรถที่พึ่งพาได้ยากขึ้นหากเกิดอาการรวนบนท้องถนน

หลังจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ป๊อก เกี่ยวกับร้าน PHD@RCA ในรูปโฉมใหม่ เลยขออนุญาตพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ Mr. Ruby ช่างใหญ่ประจำ PHD@RCA เพื่อที่จะได้ไขข้อข้องใจถึงประวัติความเป็นมา ประสบการณ์ในการซ่อมรถ Harley และเป็นมายังไง ทำไมถึงมาอยู่เมืองไทยได้ ลองมาฟังเรื่องราวจากเขาดูครับ

 
 
2010 Dyna Wide Glide
Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

HDP: ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยครับ
Ruby: ผม Ruby ครับ เกิดที่อเมริกา แต่ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่เด็ก จนอายุ 7 ขวบ ก็ย้ายกลับมาที่อเมริกา

HDP: อย่างงี้ก็พูดฝรั่งเศสได้

Ruby: ก็มีลืมๆ ไปบ้างแล้วเหมือนกันครับ เพราะอยู่ที่อเมริกาตลอด แต่พอมาที่นี่ ได้มาเจอคนฝรั่งเศส ก็พอเริ่มฟื้นๆ กลับมาบ้างเหมือนกัน

HDP: อยู่ที่รัฐไหนครับ

Ruby: ผมเป็นคน California ครับ แต่ย้ายไปอยู่ที่ Arizona บ้าง Oregon บ้าง Washington บ้าง แต่ส่วนใหญ่ผมอยู่ใน California เพราะผมทำงานให้กับดีลเลอร์ของ HD ชื่อ Dudley Perkins ใน San Francisco ที่นี่เป็นดีลเลอร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของ Harley เพราะเขาเริ่มเป็นดีลเลอร์มาตั้งแต่ปี 1914 ส่วนผมทำอยู่ที่นี่ได้ 12 ปี แล้วก็เริ่มเบื่องานในดีลเลอร์ พอดีทาง Harley เขาเสนองานให้ผม เพราะในช่วงปี 1999 เขามีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวฉีดที่เพิ่งเริ่มทำออกสู่ตลาด พอดีปัญหาเรื่องนี้เกิดในยุโรปค่อนข้างมาก ผมเลยถูกส่งตัวไปที่ฝรั่งเศสเพื่อไปอบรมให้ช่าง HD ที่นู่นแก้ปัญหาได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ พอไปถึงที่นู่นกลายเป็นว่า ผมแทบจะไม่มีโอกาสได้ทำงานเลย ไม่ได้ว่าคนฝรั่งเศสทั้งหมดนะครับ อาจจะเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ดีลเลอร์ที่ผมไปทำงานด้วยนี่สุดๆ จริงๆ ผมไปถึงออฟฟิศ 7 โมงเช้า แต่ไม่มีใครมาจนกว่าจะ 10 โมงเช้า พอมาถึงก็หากาแฟกินกันก่อน พอ 11 โมงกว่าเริ่มเข้ามาทำงานก็ถึงเวลาพักเที่ยงกันแล้ว ก็หยุดกินข้าว เข้างานอีกทีบ่าย 2 ทำยังไม่ทันไรก็ 5 โมงเย็น กลับบ้านได้แล้ว ทำอยู่ได้ 3 เดือน ผมก็ต้องโทรไปบอก Harley ว่าผมอยู่ไม่ได้ ไม่มีใครทำงานกันเลย (หัวเราะ)

 

 

 
                                                           Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA


 
2010 Dyna Wide Glide
Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

HDP: ก็เลยกลับมาที่ อเมริกา
Ruby: ใช่ครับ แต่พอกลับมาผมก็เบื่อที่จะต้องกลับไปทำกับดีลเลอร์อีก เลยเปลี่ยนมาทำพวก Custom Bike เพราะก่อนที่จะมาทำรถมอเตอร์ไซค์ ผมเคยสร้างพวกรถ Hot Rod มาก่อน

HDP: สร้างทั้งคัน หรือว่าซื้อมาประกอบครับ

Ruby: ผมเริ่มต้นสร้างทั้งคัน ตั้งแต่เฟรม, งานเหล็ก, บังโคลน, ไฟฟ้า, เครื่องยนต์ ตอนผมกลับมาถึงใหม่ๆ ผมไปได้งานที่ร้านของเพื่อนใน South San Francisco ตอนนั้นงานของเขากำลังไปได้ดีทีเดียว แต่เขาอยากจะไปเปิดสาขาเพิ่มในฮ่องกง เขาก็เลยชวนผมมาทำด้วย ผมเลยย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกง ผมอยู่ที่นั่นได้ประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2003

HDP: อยู่ฝั่ง ฮ่องกง หรือ เกาลูน ครับ
Ruby: อยู่ ที่ฝั่งฮ่องกงเลยครับ ตอนนั้นช่างซ่อม Harley ที่ได้รับการอบรมมาจากบริษัทโดยตรงยังไม่มี จะมีแต่ ดีลเลอร์ที่ชื่อ Techno Harley แต่ชื่อเสียงเรื่องการซ่อมรถไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอวันแรกที่ผมไปถึง ไบค์เกอร์ฮ่องกงก็ไปขนรถออกจาก Techno Harley แล้วเอารถมาให้ผมทำ เจ้าของ Techno Harley ถึงกับงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนอยู่ที่นู่นเรียกได้ว่าสนุกมากครับ ยิ่งชีวิตกลางคืนในเกาะฮ่องกงด้วยแล้ว ลูกค้าผมหลายคนพาผมออกไปเที่ยวแทบทุกคืน จนในที่สุดผมก็พบว่าผมเก็บเงินไม่ได้เลย เพราะเวลาเราออกไปเที่ยว ก็ผลัดกันเลี้ยง แต่ค่าใช้จ่ายในฮ่องกงแพงมาก รายได้แค่การซ่อมรถเอาไม่อยู่ ผมก็เลยตัดสินใจว่าอยู่ไม่ได้แล้วไปดีกว่า 

 

 

 

 

ตอนที่ผมอยู่กับ Dudley Perkins ผมเคยจัดการเรื่องรถให้กับกลุ่มนักธุรกิจคนไทยอยู่กลุ่มหนึ่งครับ เขาจะสั่งรถจากดีลเลอร์ประมาณ 15 - 20 คัน แล้วก็บินมาลงที่ San Francisco เอารถออกไปขี่ทั่วอเมริกา ไป Sturgis ไป Daytona เกือบเดือน แล้วก็ขี่กลับมาให้ผมแยกชิ้นส่วนเพื่อส่งกลับมาที่เมืองไทย พวกเขารู้ฝีมือผมดีว่าผมจัดการรถได้เรียบร้อย พอเพื่อนชาวไทยได้ข่าวว่าผมกำลังจะออกจาก ฮ่องกง เขาก็เลยชวนผมให้มาอยู่ที่เมืองไทย เพราะที่นี่ต้องการช่างที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ Harley โดยตรง ผมก็เลยบินจาก ฮ่องกง มาที่ กรุงเทพ พักอยู่ได้ประมาณเดือนครึ่ง ก็เลยหาโอกาสลงไปเที่ยวภูเก็ต พอไปแล้วก็รู้สึกชอบภูเก็ตมากกว่า ผมเลยตัดสินใจว่า ขอทำงานอยู่ที่ภูเก็ตก็แล้วกัน สุดท้ายเลยได้ไปอยู่กับ Nicky’s Handle Bar

HDP: อยู่กับพี่นิคกี้นานไหมครับ
Ruby: ตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปี 2007 ครับ ผ่านช่วงสึนามิพอดี หลังจากสึนามิ ธุรกิจในภูเก็ตก็เริ่มเงียบเหงา ลูกค้าก็ลดลง ผมก็เลยตัดสินใจว่า ได้เวลาออกเดินทางอีกครั้งแล้ว ตอนนั้นก็มีเพื่อนๆ จากหลายที่ชวนผมไปร่วมงานด้วย มีบางคนชวนผมให้ไปช่วยทำร้านที่ ฟิลิปปินส์ แต่ผมก็ไม่ได้ไป บางครั้งก็มีเพื่อนจาก Singapore บ้าง จาก Malaysia บ้าง จาก Indonesia บ้าง ชวนให้ไปช่วยสร้าง Custom Bike เพราะกลุ่มคนเล่นรถ Harley ในประเทศแถบนี้มีเยอะมาก ผมก็ไปช่วยสร้างรถกับเขา

 

 


 
Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

HDP: ไม่คิดที่จะกลับไปทำงานกับดีลเลอร์อีกเหรอครับ
Ruby: ไม่หล่ะครับ ตอนนี้ Harley ออกนโยบายหลายอย่างที่ทำให้ช่างทำงานลำบากมากขึ้น ระบบรถรุ่นใหม่ของ Harley ซับซ้อนมากขึ้น อย่างระบบไฟ ระบบกันขโมย สมัยก่อนเขาจะจ่ายค่าแรงช่างเป็นชั่วโมงการทำงาน ทำเท่าไหร่ก็ได้ตามระยะเวลาที่ทำ แต่ก็จะมีระยะเวลาสูงสุดที่สามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เขาจะกำหนดมาให้เลยว่า งานในแต่ละส่วนต้องใช้เวลาทำเท่าไหร่ ถ้าช่างทำไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด มีตัดเงินค่าแรงของช่างอีกต่างหาก คราวนี้รถแต่ละคันเขามีของแต่งกันเพียบ กว่าจะถอดชุดแต่งแต่ละชิ้นออก เพื่อที่จะเข้าไปซ่อมจุดนั้นๆ ก็ไม่ทันตามเวลาที่ให้แล้วครับ

HDP: เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกัน แล้วเขาใช้วิธีนี้ทั่วโลกเลยเหรอครับ
Ruby: ใช่ครับ เพื่อนผมที่เป็นช่างในอเมริกาหลายคนลาออกจากดีลเลอร์ เพราะทำไม่ได้ตามที่เขากำหนดในหนังสือคู่มือ ผมรู้สึกเห็นใจช่างที่ทำงานให้กับดีลเลอร์ เพราะระยะเวลาที่เขาระบุออกมาให้ช่างต้องทำตาม มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการทำงานจริง ไม่ใช่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้งานกันทั่วไปในท้องตลาด

 

 

 

HDP: แล้วเริ่มต้นการมาเป็นช่างซ่อม Harley ได้ยังไง
Ruby: ต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่ผมเริ่มต้นสร้างรถ Harley ของตัวเองตอนปี 1985 ก่อนหน้านั้นผมก็เป็นช่างซ่อมรถยนต์มาก่อน แต่พอมาจับ Harley แล้ว ในยุคนั้นผมหาข้อมูลในการทำได้ยากมาก ไม่ค่อยมีใครรู้จริงพอที่จะให้คำแนะนำผมได้ ผมเลยโทรไปที่ Harley เขาก็แนะนำว่ามีโรงเรียนสอนการซ่อมรถ Harley อยู่ใน Arizona เป็นโรงเรียนของ Harley โดยตรง ผมก็เลยกลับไปเรียนหนังสืออีกรอบ ตอนนั้นมีแค่ที่ Arizona เท่านั้น แต่ตอนนี้ ขนาดใน Asia ก็ยังมีที่ Indonesia เริ่มแรกผมเรียนคอร์สสั้นๆ แค่ 3 เดือน แต่พอจบแล้วผมก็ต่อคอร์สเจาะลึกเรื่องของรถ Evolution แล้วก็มาต่อคอร์สรถรุ่นเก่า อย่างเครื่อง Shovelhead, Panhead, Knuckle Head หลังจากนั้นผมชอบโมดิฟายเครื่องยนต์ให้แรงๆ ก็เลยไปเรียนคอร์ส High Performance อีก ไปๆ มาๆ ก็เลยเรียนซะ 2 ปี พอเรียนจบ Dudley Perkins ก็จ้างผมเข้าทำงานทันที

HDP: งั้นก็ถนัดตั้งแต่รถปีเก่า จนถึงปีล่าสุดที่ใช้ระบบหัวฉีด
Ruby: เรียก ได้ว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่รู้จักเครื่องหัวฉีดของ Harley ดีที่สุดครับ เพราะพื้นฐานของผมมาจากช่างซ่อมรถยนต์ ซึ่งระบบหัวฉีดในรถยนต์มีมานานแล้ว พอ Harley หันมาใช้ระบบหัวฉีด เลยเป็นเรื่องง่ายสำหรับผม อย่างหัวฉีดรุ่นแรกในปี 1995 ตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของ Harley เลย ถึงขนาดแผนก R&D ของ Harley ในยุคนั้นต้องโทรมาหาผมเพื่อถามความเห็นว่าจะแก้ไขยังไง จนมาถึงปี 2000 ที่ Harley ตัดสินใจยกเครื่องระบบหัวฉีดใหม่หมดมาเป็นระบบ Delphi ที่ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

 

 


 
2010 Dyna Wide Glide
Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

HDP: มีข้อจำกัดในการซ่อมไหมครับ
Ruby: จนถึงตอนนี้ไม่มีครับ ผมซ่อมได้ทุกรุ่น ผมเริ่มงานมาตั้งแต่ปี 1987 กับ Dudley Perkins จนถึงตอนนี้ประสบการณ์กว่า 25 ปีของผมในการซ่อม Harley ผมคิดว่าผมมีมากพอสมควร ผมโชคดีที่ตอนอยู่ที่ Dudley Perkins ผมมีโอกาสได้ดูแลรถของตำรวจทางหลวง California, FBI, DEA ผมเป็นคนเดียวที่มีโอกาสได้ซ่อมรถของหน่วยราชการเหล่านี้ ทำให้ผมได้รู้จักรถในทุกแบบการใช้งาน และผมเป็นคนที่ขยันเรียนรู้ทั้งจากตำราและก็คนที่มีความรู้มากกว่า ทำให้ช่วง 12 ปีที่ผมอยู่กับ Dudley Perkins เป็นช่วงที่ให้ประสบการณ์ทางช่างกับผมมากทีเดียว

HDP: สำหรับรถในปีใหม่ๆ ซ่อมยากขึ้นไหม
Ruby: จริงๆ แล้วไม่ยากครับ แต่ Harley กำลังทำให้ยาก อย่างระบบกันขโมยในรถรุ่นใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด รถปี 2011 ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบไม่ให้เหมือนกับปี 2010

HDP: ต้องใช้เครื่องมือพิเศษจาก Harley?
Ruby: ผม ไม่มีเครื่องมือพิเศษจาก Harley แต่ผมสร้างมันขึ้นมาเอง เพราะ Harley ไม่ยอมให้เครื่องมือที่จะช่วยวิเคราะห์การซ่อมหลุดออกจากดีลเลอร์ อย่างช่วงก่อนคุณอาจจะต้องการอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อตัวรถเข้ากับเครื่อง คอมพิวเตอร์ของคุณ เพื่อตรวจสอบอาการว่าเกิดขึ้นตรงจุดไหน แต่ Harley กำลังจะหาทางป้องกันไม่ให้คุณซ่อมมันได้อีกต่อไป แม้กระทั่งที่ดีลเลอร์ ต่อไปข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งกลับไปที่ Milwaukee แทนที่จะหาทางแก้กันที่ดีลเลอร์ ต่อไปช่างเทคนิคของดีลเลอร์จะรู้แค่เพียงว่า จะต่อปลั๊กตัวรถเข้าคอมยังไง แล้วจะส่งข้อมูลกลับไปที่ Milwaukee ยังไง หลังจากนั้นก็นั่งรอให้ Harley ส่งเมลกลับมาบอกว่ารถเกิดปัญหาตรงไหน ชิ้นส่วนไหนจะต้องเปลี่ยนบ้าง ต่อไปไม่ต้องเรียกว่าช่างซ่อมรถแล้ว จะกลายมาเป็นแค่คนส่งข้อมูลแล้วก็เปลี่ยนชิ้นส่วนเท่านั้น 

 

 

                                                           Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

 

HDP: คุณคิดยังไงกับแผนการนี้ของ Harley
Ruby: ถ้า เอาจริงๆ ผมคิดว่า Harley กำลังตั้งใจที่จะเลิกกิจการ เพราะก่อนหน้านี้ สิ่งที่ทำให้ Harley เป็นที่นิยมของนักขี่ทั่วโลก เป็นเพราะ Harley เป็นรถที่ซ่อมง่าย ดูแลง่าย คุณสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวคุณเอง ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ถ้ารถคุณเสียระหว่างการเดินทาง คุณสามารถหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้ววิ่งต่อไปได้ แต่ตอนนี้ Harley กำลังจะทำให้การซ่อมรถยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น

HDP: ดูเหมือนกับว่า Harley กำลังหาทางป้องกันธุรกิจและดีลเลอร์จากร้านซ่อมทั่วไป
Ruby: เป็น เรื่องปกติของธุรกิจที่เขาจะต้องหาทางปกป้องผลประโยชน์ แต่ดีลเลอร์ของ Harley ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงนี่ครับ ผมเชื่อว่าจะมีนักขี่อีกมากที่หงุดหงิด ถ้าหากรถของพวกเขาไม่สามารถซ่อมเสร็จได้อย่างที่ต้องการ เพราะการบริการที่จะไปกระจุกตัวอยู่ที่เดียว ไม่เปิดโอกาสให้ซ่อมได้จากที่อื่น หลายคนจะเปลี่ยนไปขี่รถยี่ห้ออื่นแทน อย่างตัวผมเองก็ถ่ายทอดประสบการณ์การซ่อมให้กับช่างซ่อมชาวไทยเหมือนกัน เพราะผมไม่สามารถซ่อมรถให้ทุกคนได้ด้วยตัวเองคนเดียว วงการมอเตอร์ไซค์ผมคิดว่าต้องให้โอกาสและใจกว้างครับ

 

 

 

HDP: ถ้าพูดถึงความแตกต่างของไบค์เกอร์ไทย กับ อเมริกา
Ruby: มีความแตกต่างกันบ้างครับ อย่างเรื่องการแบ่งแยกยี่ห้อรถ ในเมืองไทยอาจจะไม่ค่อยเท่าไหร่ ขอให้ขี่รถใหญ่เหมือนกัน ก็ยังพอจะไปด้วยกันได้ แต่ของ อเมริกา จะค่อนข้างชัดเจน ถ้าคุณขี่ HD คุณก็จะขี่แต่กับ HD ถ้าคุณขี่ BMW ก็จะขี่กับ BMW แล้วก็เรื่อง แก๊งค์ อย่างของที่นี่จะเป็นแบบง่ายๆ สบายๆ แต่ของที่นู่น จะมีเรื่องของแก๊งค์ที่มีความรุนแรง มีสงครามระหว่างกัน คุณไม่สามารถที่จะไปพูดกับแก๊งค์อื่นได้ ถ้าคุณเป็นสมาชิกของแก๊งค์ เขาจะคิดว่าคุณหักหลัง คุณอาจจะโดนเก็บก็เป็นได้ หรือการสักสัญลักษณ์ของแก๊งค์ ถ้าคุณเข้าเป็นสมาชิกแล้ว คุณจะต้องเป็นสมาชิกไปจนตาย เพราะคุณมีรอยสักของแก๊งค์ไปเรียบร้อยแล้ว อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าไบค์เกอร์ชาวไทย เป็นแบบนี้ดีกว่าเยอะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ถ้าไม่รวมเรื่องของแก๊งค์ ผมว่าก็ไม่แตกต่างกัน อย่างเรื่องกฏหมายก็เหมือนกัน ในอเมริกามีกฏหมายเยอะแยะไปหมด เปลี่ยนท่อเสียงดังก็ไม่ได้ คุณอาจจะโดนจับเสียค่าปรับ หรือบางทีอาจจะโดนส่งเข้าห้องขัง แต่ที่นี่ไม่ใช่ ที่นี่มีอิสระกว่าเยอะ

HDP: อยากจะฝากอะไรให้นักขี่ชาวไทยไหมครับ

Ruby: สวัสดีครับ ถ้าเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นกับรถของคุณ แล้วหาทางแก้ไม่ได้ ลองแวะเข้ามาที่ร้านนะครับ เราสามารถแก้ปัญหาให้กับรถของคุณได้อย่างแน่นอน แวะเข้ามาดูอะไหล่-ของตกแต่งที่มีอยู่มากมายที่ PHD ครับ หรือจะโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเบื้องต้นก่อนก็ได้ พวกเราพร้อมให้บริการเสมอครับ ขอบคุณครับ

 

 

                                                           Ruby นายช่างซ่อมรถประจำ PHD @ RCA

 

หลังจากพูดคุยกันอยู่นานพอสมควร ได้ฟังประสบการณ์ของ Mr. Ruby ที่เกี่ยวข้องกับแวดวง Harley-Davidson ในต่างแดน จุดเริ่มต้นของการเป็นช่างซ่อม Harley เรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเจอ และแนวโน้มของการซ่อมรถในอนาคต ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย และมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะหาทางพัฒนาศักยภาพของช่างซ่อมชาวไทย ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับช่างซ่อมที่ได้รับการอบรมมาโดยตรง

วงการ Harley เมืองไทย โชคดีที่ได้ช่างที่มีความชำนาญในการซ่อมระดับนี้มาอยู่ที่นี่ และหวังว่าจะเป็นที่พึ่งอีกแห่งหนึ่ง ให้กับนักขี่ชาวไทยที่ต้องการขี่รถที่ดี มีคุณภาพบนท้องถนนในแผ่นดินเกิดแห่งนี้ครับ

 

 

Share   Like 4
Comments  
Posted by jo-hd
Date: 2011.07.23
Posted by tongkaon
Date: 2011.07.23
Posted by ณ ศรีราชา
Date: 2011.07.22
หากคุณรูบี้สอนช่างชาวไทยมากๆก็จะทำให้ช่างบ้านเรามีความชำนาญที่จะซ่อมและแก้ปัญหาครับ
ขอขอบพระคุณที่ให้ความสำคัญของการถ่ายทอดประสปการณืมาสู่เพื่อนชาวไทยครับ
ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
1 [ 2 ]